มาเลเซีย (Malaysia)
ชื่อประเทศ - มาเลเซีย
ที่ตั้ง - ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ประกอบด้วยดินแดนสองส่วน คือ มาเลเซียตะวันตก ตั้งอยู่บน คาบสมุทรมลายู ประกอบด้วย11รัฐ คือ ปะหัง สลังงอร์ เนกรีเซมบิลัน มะละกา ยะโฮร์ เประ กลันตัน ตรังกานู ปีนัง เกดะห์ และปะลิส มาเลเซียตะวันออก ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว (กาลิมันตัน) ประกอบด้วย 2 รัฐ คือ ซาบาห์ และซาราวัก นอกจากนี้ยังมีเขตการปกครองภายใต้สหพันธรัฐ อีก 3เขต คือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวง) เมืองปุตราจายา (เมืองราชการ) และเกาะลาบวน
พื้นที่ - 128,430 ตารางไมล์ (329,758 ตารางกิโลเมตร)
เมืองหลวง - กรุงกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur)
เมืองราชการ - เมืองปุตราจายา (Putrajaya)
ภูมิอากาศ - ร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส
ประชากร 26.24 ล้านคน (ปี 2549)
ภาษา มาเลย์ (Bahasa Malaysia เป็นภาษาราชการ) อังกฤษ จีน ทมิฬ
ศาสนา อิสลาม (ศาสนาประจำชาติ ร้อยละ 60.4) พุทธ (ร้อยละ 19.2) คริสต์ (ร้อยละ 11.6) ฮินดู (ร้อยละ 6.3) อื่น ๆ (ร้อยละ 2.5)
หน่วยเงินตรา ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 3.20 ริงกิต /1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10.42 บาท/1 ริงกิต)
ระบอบการเมือง ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy)
ระบบการปกครอง
(1) สหพันธรัฐ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดี (Yang-diPertuan Agong) เป็นประมุข ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากเจ้าผู้ปกครองรัฐ9 แห่ง (ยะโฮร์ ตรังกานู ปะหัง สลังงอร์ เกดะห์ กลันตัน เนกรีเซมบิลัน เประ และปะลิส) และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นดำรงตำแหน่ง วาระละ 5 ปี
(2) นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลสหพันธรัฐ และมุขมนตรีแห่งรัฐ (Menteri Besar ในกรณีที่มีเจ้าผู้ปกครองรัฐ หรือChief Minister ในกรณีที่ไม่มีเจ้าผู้ปกครองรัฐ) เป็นหัวหน้ารัฐบาลแห่งรัฐ
ประมุขสมเด็จพระราชาธิบดี Al-Wathiqu Billah Tuanku Mizan Zainal Abidin ibni Al-Marhum Sultan Mahmud Al-Muktafi Billah Shah จากรัฐตรังกานู ทรงเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 13 ของมาเลเซีย
(ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2549)
การเมืองการปกครอง
การเมือง
พรรค UMNO มีแนวนโยบายบริหารประเทศเน้นชาตินิยมแต่ไม่รุนแรง สนับสนุนชาวมาเลย์ให้มีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แนวนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศหลัก ๆ สรุปได้ดังนี้
1. ดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะประเทศตะวันตก
2. พยายามเข้าไปมีบทบาทนำในอาเซียน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิม เพื่อเป็นพลังต่อรองกับประเทศตะวันตกในเวทีระหว่างประเทศ
3. พัฒนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยโดยไม่ยึดติดกับรูปแบบของประเทศตะวันตกมีแนวดำเนินการของตนเองและให้ความสำคัญต่อเรื่องความมั่นคงภายในประเทศเป็นสำคัญ
เศรษฐกิจการค้า
เศรษฐกิจ มาเลเซียมีนโยบายทางเศรษฐกิจดังต่อไปนี้
1) เปิดรับการค้า การลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากตะวันตก เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2563 (Vision 2020) ตามที่อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัดตั้งเป้าหมายไว้
2) ใช้นโยบายการเมืองนำเศรษฐกิจเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์และโอกาสทางการค้าแก่ประเทศ
3) ขยายการติดต่อด้านเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และยุโรป อาทิ มาเลเซียในฐานะประธานองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of Islamic Conference – OIC) ให้ความสำคัญกับการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก OIC (รวม 57 ประเทศ) โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ธนาคารอิสลาม การศึกษา และการท่องเที่ยว
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย
1. ด้านการทูต
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาเลเซียเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2500 เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์คนปัจจุบันคือ นายปิยวัชร นิยมฤกษ์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2550 นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซีย 2แห่ง (สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู) และมีสถานกงสุลประจำเกาะลังกาวี (ซึ่งมีดาโต๊ะ ชาซรีล เอสเคย์ บิน อับดุลลาห์ กงสุลกิตติมศักดิ์เป็นหัวหน้าสำนักงาน) สำหรับหน่วยงานของส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ภายใต้สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานแรงงาน ส่วนหน่วยงานของไทยอื่นๆ ที่ตั้งสำนักงานในมาเลเซียคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย สำหรับหน่วยงานของมาเลเซียในไทยได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย (เอกอัครราชทูตมาเลเซียคนปัจจุบันคือ ดาโต๊ะ ชารานี บิน อิบราฮิม) และสถานกงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา
2. ด้านการเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียได้พัฒนาแน่นแฟ้นจนมีความใกล้ชิดกันมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายประการ การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับพระราชวงศ์ชั้นสูง รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ แต่แม้ว่าสองฝ่ายจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน ก็ยังคงมีประเด็นปัญหาในความสัมพันธ์ ซึ่งต้องร่วมมือกันแก้ไข อาทิ การปักปันเขตแดนทางบก บุคคลสองสัญชาติ การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
นโยบายของไทยต่อมาเลเซียเน้นมุ่งส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งให้ความสัมพันธ์ทุกระดับงอกงามอยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผล เคารพซึ่งกันและกันในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ดี เพราะเหตุการณ์ในประเทศหนึ่งย่อมจะส่งผลเกื้อหนุนหรือกระทบต่ออีกประเทศหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3. ด้านเศรษฐกิจ
• ด้านการค้า ในปี 2550 การค้าไทย-มาเลเซียมีมูลค่า 16,408 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยขาดดุลการค้า 826.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา สินค้านำเข้าจากมาเลเซียที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบและแร่เชื้อเพลิง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์
• ด้านการลงทุน ในปี 2550 นักลงทุนมาเลเซียได้รับอนุมัติจาก BOI จำนวน 33 โครงการ (จาก 38 โครงการที่ยื่นขอ) คิดเป็นมูลค่า 11,566 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 53.6 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
• ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2550 นักท่องเที่ยวมาเลเซียมาไทย 1.2 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวไทยไปมาเลเซียประมาณ 600,000คน (สถิติในช่วงเดือน ม.ค. - มิ.ย. 2550)
4. สังคมและวัฒนธรรม
• ด้านสังคม ไทยกับมาเลเซียมีความใกล้ชิดกันในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการไปมาหาสู่ กันในฐานะเครือญาติและเพื่อนฝูง ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือกันทั้งในด้านการค้าและด้านอื่น ๆ ทั้งสองประเทศมีโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างกัน รวมทั้งความร่วมมือด้านการบริหารจัดการสัญจรข้ามแดนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่และส่งเสริมการติดต่อด้านการค้าและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังอนุญาตให้คนถือสัญชาติของอีกฝ่ายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนใช้บัตรผ่านแดนซึ่งออกให้โดยหน่วยงานปกครองท้องถิ่นของแต่ละฝ่ายแทนการใช้หนังสือเดินทางเพื่อผ่านด่านพรมแดนระหว่างกันได้
• ด้านศาสนาและวัฒนธรรม มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำศาสนาอิสลาม ทั้งในระดับจุฬาราชมนตรีและผู้นำศาสนา ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบริหาร จัดการโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามและวิทยาลัยอิหม่าม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านกิจการศาสนาอิสลาม
• ด้านวิชาการ ทั้งสองประเทศมีการประชุมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันเพื่อทบทวนและติดตามผลการดำเนินงานของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และ Economic Planning Unit (EPU) ของมาเลเซียเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน ความร่วมมือในกรอบทวิภาคีที่ฝ่ายไทยให้แก่ฝ่ายมาเลเซีย ได้แก่ การจัดหลักสูตรประจำปี (Annual International Training Course: AITC) หลักสูตรศึกษานานาชาติ (Thai International Postgraduate Programme: TIPP) ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (Technical Cooperation Among Development Country: TCDC) และยังร่วมกันจัดการฝึกอบรมให้กับประเทศที่สาม (Third Country Training Programme: TCTP) ส่วนมาเลเซียได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการให้ทุนฝึกอบรมประจำปีภายใต้โครงการ Malaysia Technical Cooperation Programme (MTCP) ในสาขาต่าง ๆ ให้แก่ประเทศไทย เพื่อให้คัดเลือกผู้ไปรับการฝึกอบรมที่มาเลเซีย โดยในช่วง พ.ศ. 2540-2548 มีชาวไทยได้รับทุนดังกล่าวรวม 165 คน
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
ตึกเปโตรนาส (Petronas Twin Tower)
เป็นตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลก มีความสูงถึง 452 เมตร มีชั้นทั้งหมด 88 ชั้น โดยทางการใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งหมด 20,000 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของตึกนี้เป็นเจ้าของผู้ผลิตน้ำมันยี่ห้อเปโตรนาส ชื่อเดียวกับตึกนั่นเอง การออกแบบตึกได้รับแรงบันดาลใจจากลักษณะของเสาหินทั้ง 5 ของอิสลาม นอกจากความสวยงามและความสูงของตึก ที่ทำให้คนทั่วโลกต้องตะลึงแล้ว ภายในตึกยังเป็นแหล่งรวมความรู้ ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี บันเทิงและแหล่งช็อปปิ้งขนาดใหญ่อีกด้วย
กัวลาลัมเปอร์ ทาวเวอร์ (Menara Kuala Lumpur)
ตั้งอยู่บนยอดเขาบูกิตนานาส เป็นหอคอยที่มีความสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากที่แคนาดา รัสเซีย และจีน มีความสูงถึง 421 เมตร โดยใช้เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ และใช้ระบบสื่อสารไฮเทคต่างๆ ด้านหน้าทางเข้าจะเป็นสวนหย่อมขนาดใหญ่มีต้นไม้ใหญ่อายุ 100 ปี มีชื่อว่า ต้นเจลลิตง
ตั้งอยู่บนยอดเขาบูกิตนานาส เป็นหอคอยที่มีความสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากที่แคนาดา รัสเซีย และจีน มีความสูงถึง 421 เมตร โดยใช้เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ และใช้ระบบสื่อสารไฮเทคต่างๆ ด้านหน้าทางเข้าจะเป็นสวนหย่อมขนาดใหญ่มีต้นไม้ใหญ่อายุ 100 ปี มีชื่อว่า ต้นเจลลิตง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น