วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

ภูมิลักษณ์จังหวัดกาญจนบุรี



                                                       กาญจนบุรี (Kanchanaburi)


      แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์      มณีเมืองกาญจน์
สะพานข้ามแม่น้ำแคว           แหล่งแร่น้ำตก





ประวัติและความเป็นมา :

     ในอดีตกาญจนบุรี เป็นดินแดนที่อยู่ของมนุษย์ยุคหินเก่า จากหลักฐานที่พบทางด้านโบราณคดีมากมาย อาทิเช่น เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือสมัยหินใหม่ เครื่องมือสมัยโลหะ โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องประดับ ภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำ โลงศพ ฯลฯ ตามถ้ำเพิงผา และตามลำน้ำแควน้อย ลำน้ำแควใหญ่ รวมถึงลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ต่อมาเมื่อชาวอินเดียได้เดินทางเข้ามาค้าขาย และเผยแพร่พุทธศาสนายังแคว้นสุวรรณภูมิ ซึ่งตรงกับพุทธศตวรรษที่ 11-16 ได้พบหลักฐานศิลปะอินเดีย สมัยคุปตะในสมัยทวาราวดี ตามลำน้ำแควน้อย แควใหญ่ และแม่กลอง บริเวณบ้านวังปะโท่ บ้านท่าหวี บ้านวังตะเคียน โบราณวัตถุสถานที่พบ อันประกอบด้วย ซากเจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป พระพิมพ์ เสมาธรรมจักร ระฆังหิน เครื่องประดับ ภาชนะดินเผาและยังพบตะเกียงโรมันสำริด ที่มีอายุราว พ.ศ.600 นับเป็นโบราณวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดของไทย จากหลักฐานทางเอกสารที่เก่าแก่ที่สุด ที่กล่าวถึงเมืองกาญจนบุรี คือ พงศาวดารเหนือ กล่าวว่า “ กาญจนบุรี เป็นเมืองของพญากง พระบิดาของพระยาพาน เป็นเมืองสำคัญของแคว้นอู่ทอง หรือสุวรรณภูมิ มีผู้สันนิษฐานว่าพญากง สร้างขึ้นราว พ.ศ.1350 ” ต่อมา ขอมได้แผ่อิทธิพลนำเอาศาสนาพุทธมหายาน เข้ามาประดิษฐานในเมืองกาญจนบุรี ปรากฏหลักฐานคือปราสาทเมืองสิงห์ เมืองครุฑ เมืองกลอนโด จนขอมเริ่มเสื่อมอำนาจลง ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองกาญจนบุรี ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ คอยป้องกันทัพพม่าที่ยกมา ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ และด่านบ้องตี้ (แควน้อยเขตอำเภอไทรโยค) พระมหาอุปราชา ได้กรีฑาทัพผ่านมาทางด่านเจดีย์สามองค์ และได้เข้ามาทำยุทธหัตถี กับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ตำบลดอนเจดีย์ พระมหาอุปราชาถูกพระแสงง้าวสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ ไทยต้องทำสงครามกับพม่าถึง 24 ครั้ง กาญจนบุรีเป็นสมรภูมิหลายครั้ง และเป็นทางผ่านไปตีกรุงศรีอยุธยา จนต้องเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี (พระเจ้าตากสินมหาราช) ในสมัยนั้นเกิดสงครามกับพม่าถึง 10 ครั้ง  ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กษัตริย์ของพม่า คือพระเจ้าปดุง ต้องการยึดครองประเทศใกล้เคียง โดยการยกทัพเข้ามาตีไทย ทางด่านเจดีย์สามองค์ และทางด่านต่างๆ รวม 9 ทัพ จึงเรียกสงครามครั้งนั้นว่า “ สงคราม 9 ทัพ ”การสู้รบระหว่างไทยกับพม่า ณ ทุ่งลาดหญ้า (ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมือง) เป็นอดีตประวัติศาสตร์สำคัญครั้งหนึ่ง ของกาญจนบุรี ซึ่งเดิมทีเดียว ทุ่งลาดหญ้านี้เป็นเมืองกาญจนบุรีมาก่อน อยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ใกล้เขาชนไก่ เป็นเมืองที่เป็นทั้งสนามรบ และทางผ่านของกองทัพไทยและพม่า ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา เมื่อเกิดการสู้รบบ่อยครั้ง ราษฏรจึงอพยพมาอยู่ที่ตำบลปากแพรก อย่างหนาแน่น ซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำ 2 สาย คือแม่น้ำแควน้อย กับแม่น้ำแควใหญ่ กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง กลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น มีการคมนาคมสะดวก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะ จึงโปรดฯ ให้ตั้งเมืองกาญจนบุรีขึ้นใหม่ ที่ตำบลปากแพรกนี้ ตอนฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำแม่กลอง ต่อมาจนถึง พ.ศ.2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้ก่อสร้างป้อมและกำแพงเมืองขึ้นใหม่ อย่างแข็งแรง ตรงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ยังคงเหลือประตูเมือง และซากของกำแพงเมืองให้เห็น ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ส่วนใหญ่ เพื่อติดต่อค้าขายกับเมืองราชบุรี ปัจจุบันตัวเมืองที่ตั้งศาลากลางจังหวัด ย้ายไปอยู่ที่บ้านบ่อ ห่างจากที่ตั้งเดิมไปทางใต้ 3 กิโลเมตร เนื่องจากตัวเมืองเดิมทรุดโทรม ในอดีตมีเหตุการณ์สำคัญคือในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เดินทัพเข้ามาในประเทศไทย เพื่อจะผ่านไปพม่าและอินเดีย จึงได้สร้างทางรถไฟจากชุมชนหนองปลาดุก (จังหวัดราชบุรี) ผ่านแม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำแควน้อย ไปยังด่านพระเจดีย์สามองค์ เข้าสู่ประเทศพม่า ที่เมืองตันบีบูซายัด โดยใช้เชลยศึกที่จับมาได้บังคับและทรมาน เพื่อเร่งสร้างทางรถไฟให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่ถูกฝ่ายตรงข้ามทิ้งระเบิดทำลาย ทำให้เชลยศึกต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทางรถไฟสายนี้จึงถูกขนานนามว่า “ ทางรถไฟสายมรณะ




ลักษณะภูมิประเทศ
  จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ 3 ใน 4 ที่จัดอยู่ในลักษณะแห้งแล้งกันดาร เป็นป่าและภูเขาเป็นที่ราบ ที่นา และที่สวนเพียง 1 ส่วน เท่านั้น พื้นที่ทางด้านเหนือ และทิศตะวันตกของจังหวัดเป็นเทือกเขา แล้วค่อย ๆ ลาดลงทางด้านใต้ และด้านตะวันออก ภูเขาที่ทอดตัวตั้งขนานกับเส้นพรมแดนประเทศพม่า มีความยาวพรมแดน 460 กิโลเมตร ตามลำดับ คือ เทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขากำแพง เขาสลักพระ และเทือกเขาช่องอินทรี เป็นต้น มีช่องทางเดินขึ้นลงติดต่อกันได้ 12 ช่องทาง ซึ่งสมัยโบราณพม่ายกทัพเข้ามาทางนี้ ด่านที่สำคัญได้แก่ ด่านพระเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี ด่านบ้องตี้ อำเภอไทรโยค ด่านพุม่วง อำเภอเมือง ด่านหินกอง อำเภอทองผาภูมิ เป็นต้น ภูเขาในเขตนี้ทั้งหมด ทางธรณีวิทยาอธิบายไว้ว่า เกิดจากการเคลื่อนตัวของผิวโลก เมื่อหลายร้อยล้านปีมาแล้ว มีชั้นหินชุดต่างๆ อยู่ในยุคกลาง ซึ่งนับว่ามีอายุเก่าแก่กว่า หินชุดโคราช ที่เป็นภูเขาทรายทางภาคอีสาน พื้นดินกาญจนบุรีประกอบด้วนหินแกรนิต หินบะซอลท์ หินปูนชุดราชบุรี ซึ่งเขาหินปูนนั้นเมื่อถูกน้ำฝนชะจะละลายปนกับน้ำ ทำให้เกิดภูมิประเทศที่เป็นถ้ำ เป็นอุโมงค์ เกิดหินงอกหินย้อย และน้ำตกที่มีคราบหินปูนไหลปนกับน้ำติดเกาะอยู่ตามชะง่อนผา ลักษณะน้ำตกจึงไม่ลื่น ปีนป่ายได้ง่าย บางแห่งมีธารลอด ที่เกิดจากน้ำไหลผ่านใต้ดินบริเวณภูเขาหินปูน บริเวณด้านทิศเหนือของจังหวัด มีลักษณะเป็นภูเขา และที่สูง การคมนาคมต้องใช้ความระมัดระวัง ภูเขาสลับซับซ้อน ได้แก่ อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอศรีสวัสดิ์ บางส่วนของท้องที่อำเภอบ่อพลอย อำเภอไทรโยค อำเภอพนมทวน อำเภอเมือง บริเวณนี้จะเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัด บริเวณแห้งแล้งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาสลับกับเนินเขาเตี้ยๆ ขาดแหล่งน้ำ ทำการกสิกรรมไม่ค่อยได้ผล ได้แก่ท้องที่ส่วนใหญ่ของอำเภอพนมทวน อำเภอเลาขวัญ และบางส่วนของอำเภอบ่อพลอย บริเวณด้านใต้ของจังหวัด ลักษณะเป็นที่ราบที่อุดมสมบูรณ์ การคมนาคมสะดวก อยู่ใกล้แหล่งน้ำและชลประทาน ได้แก่อำเภอท่ามะกา อำเภอท่าม่วง และบางส่วนของอำเภอเมือง อำเภอพนมทวน ในบริเวณภูเขาใหญ่น้อยทั้งหลายนั้นนอกจากจะเป็นแหล่งแร่ แหล่งป่าไม้ ที่เป็นทรัพยากรสำคัญแล้ว ยังเป็นที่เกิดธารน้ำ และห้วยเล็กๆ ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำสายสำคัญ 3 สาย คือ


                                                         แม่น้ำศรีสวัสดิ์ หรือ แควใหญ่
       เป็นแม่น้ำสำคัญทางภาคตะวันตกของประเทศไทย ต้นน้ำเกิดมาจากเทือกเขาถนนธงชัย ในเขตอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ไหลผ่านอำเภอทองผาภูมิ เขตทุ่งใหญ่นเรศวร แบ่งเขตจังหวัดอุทัยธานีที่อำเภอบ้านไร่ แล้วไหลผ่านอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอเมืองกาญจนบุรี ไปบรรจบกับแม่น้ำแควน้อยที่หน้าเมืองกาญจนบุรี มีความยาวประมาณ 450 กิโลเมตร มีสาขาสำคัญ 2 สาขาคือห้วยขาแข้ง และลำตะเพิน แควใหญ่ไหลผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ป่าไม้ผ่านน้ำตกสวยงามแห่งหนึ่งคือ น้ำตกเอราวัณ มีเกาะแก่ง น้ำพุ อยู่หลายแห่ง


                                             แม่น้ำไทรโยค หรือ แควน้อย

   ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาตะนาวศรี ในเขตอำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ มีลำน้ำเล็กๆ 3 สายคือ ห้วยรันตี ห้วยซองกาเลีย และห้วยบีคลี่ ไหลมาบรรจบกันเหนือที่ว่าการอำเภอสังขละบุรีเล็กน้อย เรียกว่า “ สามสบ ” หรือ “ สามประสบ ” ไหลผ่านอำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอเมืองกาญจนบุรี ไปบรรจบกับแม่น้ำแควใหญ่ที่ตำบลปากแพรก หน้าเมืองกาญจนบุรี เป็นแม่น้ำแม่กลอง ความยาวทั้งสาย 250 กิโลเมตร เป็นลำน้ำที่สวยงามสายหนึ่งไหลผ่านภูมิประเทศที่งดงาม

                                                            
                                                                      แม่น้ำแม่กลอง
   เป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในภาคตะวันตก เกิดจากแม่น้ำแควใหญ่และแควน้อย ไหลมาบรรจบกันที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านอำเภอเมือง อำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา เข้าเขตจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม และไหลลงสู่ปากอ่าวไทยที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม มีความยาวประมาณ 132 กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำที่ปากแม่น้ำแม่กลอง 30,106 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 30,837 ตร.กม. หรือ 19.45 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม บางส่วนของจ.สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร อุทัยธานี และ ตาก ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 7,973 ล้าน ลบ.ม.

ลุ่มน้ำแม่กลองแบ่งออก เป็นลุ่มน้ำย่อย 14 ลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ แม่น้ำแควใหญ่ (1,445 ตร.กม.) ห้วยแม่ละมุง (910 ตร.กม.) ห้วยแม่จัน (862 ตร.กม.) แม่น้ำแควใหญ่ตอนกลาง (3,380 ตร.กม.) แม่น้ำแควใหญ่ตอนล่าง (4,094 ตร.กม.) ห้วยขาแข้ง (2,320 ตร.กม.) ห้วยตะเพียน (2,627 ตร.กม.) แม่น้ำแควน้อยตอนบน (3,947 ตร.กม.) ห้วยเขย็ง (1,015 ตร.กม.) ห้วยแม่น้ำน้อย (947 ตร.กม.) ห้วยบ้องตี้ (477 ตร.กม.) แม่น้ำแควน้อยตอนกลาง (2,042 ตร.กม.) ลำภาชี (2,453 ตร.กม.) ทุ่งราบแม่น้ำแม่กลอง (4,318 ตร.กม.)

  ที่ตั้งและพื้นที่: จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ภาคกลางของประเทศไทย ห่างจาก

กรุงเทพมหานคร 129 กิโลเมตร ปัจจุบันกาญจนบุรีมีพื้นที่ 19,483.148 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย (รองจากจากจังหวัดนครราชสีมา และเชียงใหม่)

 ประชากร: 833,423 คน (พ.ศ.2552)(อันดับที่ 30)

ความหนาแน่น : 42.78 คน / ตารางกิโลเมตร (อันดับที่ 73)

  อาณาเขตและการปกครอง: ติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

-  ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดตาก และ จังหวัดอุทัยธานี

-  ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดราชบุรี

-  ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดสุพรรณบุรี และ จังหวัดนครปฐม

-  ทิศตะวันตก ติดต่อกับ สหภาพพม่า

  กาญจนบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น: 13 อำเภอ 95 ตำบล 943 หมู่บ้าน คือ อำเภอเมือง อำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี อำเภอบ่อพลอย อำเภอพนมทวน อำเภอเลาขวัญ อำเภอท่ามะกา อำเภอทองผาภูมิ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอหนองปรือ อำเภอห้วยกระเจา อำเภอท่าม่วง และอำเภอด่านมะขามเตี้ย

ศูนย์ราชการ : ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี ถนนแสงชูโต ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 71000 โทรศัพท์ : 034-511778 โทรสาร

 ภูมิอากาศ 

   สภาพอากาศจังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูกาล ( Tropical Savanah " AW" ตามระบบ Koppen) มีอากาศแห้งแล้งในฤดูหนาว ช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง มีลักษณะอากาศแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนตุลาคม ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดจากทะเลอันดามัน ทำให้ช่วงระยะเวลานี้มีฝนตกชุก อากาศมีความชื้นสูง บริเวณพื้นที่ตอนบนเขตอำเภอไทรโยค อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี มีฝนตกชุกและมีช่วงการกระจายของฝนมากกว่าตอนล่าง
จังหวัดกาญจนบุรีส่วนใหญ่ มีทิวเขาเป็นแนวยาวกั้นแดน จึงทำให้มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง และมีอากาศร้อนอบอ้าวมากในฤดูร้อน ฤดูร้อนจะเริ่มเมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ สิ้นสุดลงคือประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึง กลางเดือนพฤษภาคม ในระยะนี้ เป็นช่วงของลมฝ่ายใต้พัดมาปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยมีอากาศร้อนจัดอยู่ในเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยะ 39.39 องศาเซลเซียส ฤดูฝนจะเริ่มประมาณกลางเดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม ฝนจะตกมากทางด้านตะวันตกของจังหวัด เนื่องจากได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดผ่านแนวเทือกเขาตะนาวศรีเข้ามา ฤดูหนาวจะไม่หนาวจัด ยกเว้นแต่บริเวณเทือกเขาอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.45 องศาเซลเซียส ซึ่งในฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวเย็น ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ความกดอากาศสูงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมจังหวัดกาญจนบุรี ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์

ประเพณีที่น่าสนใจ

-  งานวันน้ำพุร้อนหินดาด
วันที่จัดงาน: ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม
สถานที่จัดงาน: บริเวณน้ำพุร้อนหินดาด, อำเภอทองผาภูมิ
เปิดบริการเข้าน้ำพุร้อนฟรี และขยายเวลาใช้บริการจนถึงเที่ยงคืนตลอดงาน ชมการออกร้านแสดงสินค้า การแสดงศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้าน กิจกรรมการประกวดต่างๆ ทั้งนี้ ทหารญี่ปุ่นได้ก่อสร้างทางรถไฟเพื่อไปประเทศพม่า ผ่านบริเวณลำห้วยกุยมั่ง พบว่า ลำห้วยแห่งนี้มีน้ำพุร้อนจึงได้สร้างบ่อ เพื่ออาบน้ำร้อน เชื่อกันว่าน้ำแร่จากบ่อน้ำร้อนแห่งนี้ มีสรรพคุณในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่าง เช่น โรคเหน็บชา ไขข้ออักเสบ นักท่องเที่ยวสามารถลงอาบน้ำในบ่อได้ ที่มาของชื่อ "หินดาด" นั้นเพี้ยนมาจาก "หินดาน" คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาอาศัยอยู่สองฝั่งลำน้ำแควน้อย ซึ่งบริเวณนี้มีแผ่น หินขนาดใหญ่จำนวนมากเรียงรายอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "หินดาน" ต่อมาเพี้ยนเป็น "หินดาด" มาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลหินดาดได้ปรับปรุงบ่อน้ำพุร้อน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเดินทางมาแวะ ชม และอาบน้ำแร่เป็นจำนวนมาก การจัดงานวันพุน้ำร้อนหินดาดในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ประโยชน์จากการอาบน้ำแร่และ เพื่อการสร้างเสริมการท่องเที่ยวของ จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้ง เป็นการกระจายรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่

-  งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคววันที่จัดงาน: 28 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม 2555
    สถานที่จัดงาน: สะพานข้ามแม่น้ำแคว อำเภอเมือง
    จัดขึ้นทุกปีบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว ในราวปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของการสร้างทางรถไฟสายมรณะและสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการแสดงนิทรรศการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี การแสดงพื้นบ้าน การออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ กิจกรรมบันเทิงและการแสดงแสงและเสียง

                                         งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว






     แหล่งที่มา:

-  ขอบคุณรูปภาพ : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




















1 ความคิดเห็น:

  1. Harrah's Cherokee Casino & Hotel - Mapyro
    Harrah's Cherokee Casino 안성 출장샵 & Hotel 서울특별 출장안마 · The property is owned by the Eastern Band of Cherokee Indians. · Facilities 안양 출장안마 · Amenities 익산 출장안마 · Gaming · 과천 출장마사지 Amenities

    ตอบลบ