วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

ภูมิลักษณ์จังหวัดอุบลราชธานี


  



                                                             จังหวัดอุบลราชธานี


                 "เมืองแห่งดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี              มีปลาแซบหลายหาดทรายแก่งหิน 
                  ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม       งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์"


    ประวัติความเป็นมา

      อุบลราชธานี ราชธานีแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ชื่อว่าเป็นเมืองดอกบัวอันมีแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ไหลพาดผ่านดุจเสมือนเส้นชีวิตของชาวเมือง ในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ท้าวคำผง ท้าวทิศพรหมและท้าวก่ำ บุตรพระวอ พระตา หนีภัยสงคราม “พระเจ้าสิริบุญสาร” เจ้าแห่งนครเวียงจันทน์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและในสมัยนั้นเมืองอุบลราชธานียังเป็นเพียงชุมชนที่กลุ่มชนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เวียงดอนกองแขวงจำปาศักดิ์เท่านั้น ยังไม่ได้สถาปนาเป็นเมืองอุบลราชธานี จนถึงสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะรวมพลเมืองเพื่อเป็นกำลังของประเทศ โดยทรงมีพระราชกำหนดว่า หากเจ้าเมืองใด หรือบุคคลใดรวมไพร่พลได้มากตั้งเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง ก็จะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้เป็นเจ้าเมือง พระปทุมสุรราช (ท้าวคำผง) จึงอพยพครอบครัวไพร่พลจากเวียงดอนกองมาตั้งหลักแหล่งบริเวณห้วยแจระแม จนต่อมาพระปทุมสุรราชสามารถยกทัพปราบกบฎได้ชัยชนะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้า แต่งตั้งพระปทุมสุรราชเป็น พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ครองเมืองอุบลราชธานี และเป็นเจ้าเมืองคนแรกของอุบลราชธานี ให้ยกฐานะบ้านแจระแมขึ้นเป็น “เมืองอุบลราชธานี” ในปี พ.ศ.2335 และภายหลังได้ย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่ “ดงอู่ผึ้ง” อันเป็นที่ตั้งเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน เหตุที่มี “ราชธานี" ต่อท้ายนั้นเป็นเพราะว่ามีเจ้าเมืองสืบต่อมาถึง 4 คน และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจังหวัดอุบลราชธานี มีฐานะเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลอีสานมาโดยตลอด จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2468 ได้มีการยุบเลิกมณฑลอุบลราชธานี จึงนับได้ว่าจังหวัดอุบลราชธานีได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นจังหวัดที่มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมจังหวัดต่างๆ ของไทย หลายจังหวัด

  ขนาดและที่ตั้ง

   จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่สุดชายแดนตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกัมพูชาประชาธิปไตย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 630 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 10.0 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.5 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาณาเขตติดต่อดังนี้
-  ทิศเหนือ ติดจังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
-  ทิศตะวันออก ติดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
-  ทิศใต้ ติดประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย และจังหวัดศรีสะเกษ
-  ทิศตะวันตก ติดจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดยโสธร



ลักษณะภูมิประเทศ

 จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า แอ่งโคราช โดยสูงจากระดับน้ำทะเล เฉลี่ยประมาณ 68 เมตร (227ฟุต ) ลักษณะโดยทั่วไปเป็น ที่สูง ๆ ต่ำ ๆ จัดเป็นที่ราบสูง ลาดเอียงไปทางตะวันออก มีแม่น้ำโขงเป็นแนวเขตกั้นจังหวัดอุบลราชธานีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูลที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งแม่น้ำมูลไหลผ่านกลางจังหวัด จากทิศตะวันตก มายังทิศตะวันออกแล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอโขงเจียม และมีลำน้ำใหญ่ ๆ อีกหลายสาย ได้แก่ ลำเซบก ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย และมีภูเขาสลับซับซ้อนหลายแห่งทางบริเวณชายแดนตอนใต้ ที่สำคัญคือ เทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นอาณาเขตระหว่างจังหวัดอุบลราชธานี กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตย

ลักษณะภูมิอากาศ

  ภูมิอากาศโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือจะมีอากาศร้อนในฤดูร้อนและค่อนข้างหนาว ในฤดูหนาว ส่วนในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน และในปี 2552 มีฝนตกประมาณ 114 วัน ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 1976.2 มิลลิเมตร


สถานที่น่าสนใจและแหล่งท่องเที่ยว
  อุบลราชธานีเป็นจังหวัดใหญ่ชายแดนที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นเมืองเก่าที่เจริญมานับร้อยปี เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่งมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถานะมีประเพณีทางพุทธศาสนาที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนอุบลราชธานีเสมอ

-  หาดคูเดื่อ เป็นหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำมูล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 12 กิโลเมตร ตามถนนเลี่ยงเมือง(ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24) บริเวณหาดมีแพของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ให้บริการในเรื่องอาหารเครื่องดื่มแก่นักท่องเที่ยวที่มักจะหลบลมร้อนไปสู่ความร่มรื่นของธรรมชาติ ในฤดูแล้งจะเห็นทรายขาวและอากาศเย็นสบาย

-  หาดวัดใต้ เป็นเกาะหาดทรายตั้งอยู่กลางลำน้ำมูลใกล้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดอุบลราชธานี ในฤดูแล้งจะมีหาดทรายขาวเนียนน้ำใสสะอาด บนเกาะจะมีต้นไม้เขียวชอุ่ม ให้ความร่มเย็น นอกจากนั้นยังมีแพไม้ไผ่ให้บริการด้านอาหาร ชาวอุบลราชธานีและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนที่นี่จะนิยมมาเล่นน้ำ ในตอนเย็นจะมองเห็นพระอาทิตย์เคลื่อนลงสู่แม่น้ำดูสวยงามมาก

-  ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของทุ่งศรีเมือง และอยู่ด้านทิศเหนือของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี ถนนศรีณรงค์

-  วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี สร้างขึ้นในสมัยพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีหอพระพุทธบาทเป็นอุโบสถที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม มีลักษณะของศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น และศิลปะเวียงจันทร์ผสมอยู่ด้วย ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทุกด้าน และภายในวัดยังมีหอพระไตรปิฎก เป็นหอที่สร้างด้วยไม้ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก มีลักษณะเป็นศิลปะผสมระหว่างไทย พม่า และลาว

-  ทุ่งศรีเมือง เป็นลักษณะคล้ายสนามหลวง เป็นสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกาย และที่สำคัญมีอนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) ซึ่งเป็นผู้สร้างเมืองอุบลราชธานี

-  วัดศรีอุบลรัตน (วัดศรีทอง) ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธา ถนนอุปราช สร้างเมื่อปีเถ.ศ. 2398 สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคือ “พระแก้วบุษราคัม” เป็นพระพุทธปฏิมากรปรางมารวิชัยสมัยเชียงแสนแกะสลักจากแก้วบุษราคัม

-  วัดหนองบัว ตั้งอยู่ถนนธรรมวิถี อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางด้านทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2498 ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้ว

-  วัดแจ้ง ตั้งอยู่บนถนนสรรพสิทธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีพระอุโบสถมีรูปทรงสวยงาม และมีงานจำหลักไม้ที่มีฝีมือแบบพื้นบ้านโดยแท้ อุโบสถวัดแจ้งเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับเกียรติบัตรในงานนิทรรศการ“สถาปนิก 30” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

-  วัดมหาวนาราม ตั้งอยู่บนถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดป่าใหญ่” เป็นวัดเก่าแก่และถือว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุบลราชธานี ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดนี้คือ พระเจ้าใหญ่อินแปลง เป็นพระพุทธรูปปรางมารวิชัย

-  วัดสุปัฏณารามวรวิหาร ตั้งอยู่บนถนนสมเด็จ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดธรรมยุติ วัดแรกของจังหวัดอุบลราชธานี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4

-  วัดบ้านนาเมือง ตั้งอยู่บ้านนาเมือง ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีพระอุโบสถสร้างเป็นรูปเรือหงส์ และใช้เซรามิกในการตกแต่งอุโบสถ

-  พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี ตั้งอยู่บนถนนเขื่อนธานีตัดกับถนนอุปราช อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัด ซึ่งนับได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่ง เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 09.00 - 16.00 น.

-  พิพิธภัณฑ์เปิดบ้านก้านเหลือง ตั้งอยู่บ้านก้านเหลือง ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ขุดพบเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยหน่วยศิลปากรที่ 6 อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์เปิด เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมศึกษาหาความรู้

-  วัดหนองป่าพง ตั้งอยู่ตำบลโนนโหนน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดไปทาง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ตามทางหลวงหมายเลข 2178 ประมาณ 8 กิโลเมตร บริเวณวัดมีเนื้อที่ประมาณ 186 ไร่เศษ ในอดีตนั้นเคยเป็นวัดร้างและเป็นป่าช้ามาก่อน จนปี พ.ศ.2497 หลวงปู่ชา (พระโพธิญาณเถระ) ได้บุกเบิกปรับปรุงให้เป็นที่ปฏิบัติธรรม และได้จัดตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ และเป็นวัดในเวลาต่อมาภายในบริเวณวัดเงียบ ร่มรื่น สวยงาม เหมาะแก่การนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน และบำเพ็ญศาสนกิจ

-  แก่งสะพือ เป็นแก่งที่อยู่ในแม่น้ำมูล ในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี 45 กิโลเมตร เป็นแก่งที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี จะมีหินน้อยใหญ่สลับซับซ้อน กระแสน้ำไหลผ่านกระทบหิน แล้วเกิดเป็นฟองขาว มีเสียงดังตลอดเวลา ช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม จะมีผู้นิยมไปเที่ยวกันมาก เพราะว่าน้ำจะลดทำให้เห็นแก่งได้ชัดเจนและสวยงาม ในช่วงสงกรานต์เทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร ก็ได้กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์ที่แก่งสะพือ ซึ่งในงานนี้จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมงานเป็นจำนวนมาก

-  วัดภูเขาแก้ว ตั้งอยู่อำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวจังหวัด 44 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอพิบูลมังสาหาร 1 กิโลเมตร วัดภูเขาแก้วสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480 สำหรับให้พระสงฆ์ปฏิบัติกัมมัฏฐาน พระอุโบสถประดับด้วยกระเบื้อง

-  เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนเอนกประสงค์อีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน เขื่อนนี้จะสร้างกั้นลำโดมน้อย ในเขตอำเภอสิรินธร ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่า “เขื่อนโดมน้อย” อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 74 กิโลเมตร สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า “เขื่อนสิรินธร” อำนวยประโยชน์ด้านชลประทาน การประปา การคมนาคมทางน้ำ และการผลิตกระแสไฟฟ้า แล้วยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดภายในบริเวณเขื่อน ได้มีการจัดสวนที่มีพันธุ์ดอกไม้นานาชนิด สำหรับให้เที่ยวชมเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ

-  ช่องเม็ก เป็นจุดผ่านแดนไทย - ลาว ในเขตอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนจุดเดียวในภาคอีสานที่สามารถเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยทางพื้นดินในขณะที่จุดอื่นจะต้องข้ามลำน้ำโขง ช่องเม็กห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 90 กิโลเมตร

-  น้ำตกตาดโตน อยู่ในท้องที่ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอสิรินธร เป็นน้ำตกขนาดเล็กเกิดจากลำห้วยหนองชาด ซึ่งเป็นธารน้ำสาขาลำโดมน้อย อยู่ห่างจากถนนใหญ่ในเส้นทางสิรินธร - โขงเจียม เพียง 500 เมตร เป็นน้ำตกที่สวยงามสามารถลงเล่นน้ำได้ บริเวณโดยรอบเป็นป่าไม้ ฤดูที่น่าเที่ยวควรจะเป็นหลังฤดูฝน และฤดูหนาว

-  ผาแต้ม ตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 95 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ มีลักษณะเด่นที่ภาพเขียนสีภูมิประเทศโดยรอบสวยงามด้านตรงข้ามเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนที่แห่งใดในประเทศไทยในบริเวณดังกล่าวด้วย

-  แม่น้ำสองสี ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ทำให้เกิดสีแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน คือแม่น้ำโขงมีสีน้ำตาลอ่อน (สีชา) ส่วนแม่น้ำมูลมีสีชาแกมเขียว นิยมพูดกันติดปากว่า “โขงสีปูนมูลสีคราม” จุดที่สามารถมองเห็นแม่น้ำสองสีได้อย่างชัดเจนคือ บริเวณลาดริมฝั่งแม่น้ำมูล แม่น้ำโขงหน้าวัดโขงเจียม และบริเวณบางส่วนของบ้านห้วยหมากใต้ ในเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่เห็นสีน้ำได้ชัดเจนที่สุด และบริเวณใกล้เคียงมีบริการเรือพาล่องชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำ หรือซื้อของที่ระลึกที่ตลาดหมู่บ้านในฝั่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกด้วย

-  เขื่อนปากมูล ตั้งอยู่บริเวณบ้านหัวเห่ว ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นเขื่อนที่มีลักษณะคล้ายฝายน้ำล้น ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และใช้ประโยชน์ในด้านชลประทาน สันเขื่อนยังเป็นเส้นทางลัดจากอำเภอโขงเจียมไปอำเภอสิรินธร โดยไม่ต้องย้อนไปอำเภอพิบูลมังสาหาร

-  อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อยู่ในท้องที่ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม และตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอ สิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เดิมชื่อว่าอุทยานแห่งชาติหินกอง ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ วันที่ 13 กรกฎาคม 2524 มีเนื้อที่ประมาณ 50,000 ไร่ แก่งตะนะจะมีสายน้ำเชี่ยวและลึก ทั้งยังมีถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง จึงทำให้ปลาบริเวณแก่งตะนะชุกชุม



                                                            


งานประเพณีและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น


 -  การกินดอง หมายถึง งานพิธีมงคลสมรส มีความแตกต่างกับที่อื่นอยู่บ้างในส่วนปลีกย่อย โดยมักจะเรียกพิธีแต่งงานว่า “การกินดอง” ซึ่งหมายความในลักษณะผูกพันเกี่ยวดองฝ่ายหญิงฝ่ายชายจะเป็นดองซึ่งกันและกันเรียกว่า “พ่อดอง แม่ดอง”

-  การทำบุญบั้งไฟ ประเพณีทำบุญบั้งไฟ คือบุญเดือนหก ทำขึ้นบูชาอารักษ์ มเหศักดิ์ หลักเมือง ถือเป็นประเพณีขอฝนที่ได้ทำมาตั้งแต่บรรพกาล คำว่า “บั้งไฟ” หมายถึงกระบอกไม้ไผ่ที่นำมาบรรจุดินประสิวผสมกับถ่านไฟบดให้ละเอียดแล้วอัดลงในกระบอกไม้ไผ่ บั้งไฟมี 3 ขนาด คือ บั้งไฟน้อย บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน การแห่บั้งไฟ มักจะจัดเป็นขบวนฟ้อนรำ หรือเซิ้ง ซึ่งมีลีลาที่งดงามอ่อนช้อยตามประเพณีของหมู่บ้านนั้น ๆ

-  การทำบุญข้าวประดับดิน การทำบุญข้าวประดับดินนิยมทำกันในวันแรม 13 - 14 ค่ำ เดือนเก้า โดยการห่ออาหาร หรือของขบเคี้ยวเป็นห่อไปถวายทานบ้าง นำไปห้อยตามต้นไม้บ้าง ด้วยเหตุนี้จึงเรียกข้าวประดับดิน

-  การทำบุญข้าวสาก นิยมทำกันในวันขึ้นสิบค่ำ เดือนสิบ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า งานบุญเดือนสิบ ข้าวสากนั้นมาจากคำว่า “สลาก” เพราะบางเวลาถวายพระสงฆ์ไม่เจาะจงว่าถวายรูปใด จึงจัดทำเป็นสลากชื่อเจ้าภาพจับได้ของใครก็นำไปถวายตามนั้น

-  การทำบุญออกพรรษา ชาวพุทธนิยมทำอันดับแรกคือ การถวายปราสาทผึ้ง โดยใช้ไม้ไผ่จักตอกสานเป็นปราสาทล้อมและมุงด้วยกาบกล้วยเอาผึ้งไปต้มให้เปื่อยแล้วจุ่มเป็นดอกแล้วนำไปเสียบประดับหลังคาปราสาท ข้างในมี ขนม นมเนย ข้าวต้ม กล้วย อ้อย เสื่อ หมอน ฝ้าย และอื่น ๆ เวลาประมาณทุ่มเศษ ๆ จะแห่ไปทอดเพื่อถวายพระ

-  ไหลเรือไฟ เป็นประเพณีที่นิยมทำกันในวันออกพรรษา คือการปล่อยเรือไฟ ชาวอุบลราชธานี เรียกว่า “ไหลเฮือไฟ” คือการนำเอาท่อนกล้วย หรือท่อนไม้มาทำเป็นรูปเรือ เวลาประมาณทุ่มเศษก็จะนำมาจุดไฟ โดยใช้ขี้ไต้หรือน้ำมันยางแล้วปล่อยเรือให้ไหลไปตามน้ำ จะมีการตีฆ้องตีกลอง ตามวัดต่าง ๆ พระสงฆ์จะจัดทำเรือไฟขึ้นในวัดตรงหน้าโบสถ์ ตอนกลางคืนจะนำดอกไม้ธูปเทียนมาจุดบูชา เป็นพุทธบูชา

-  ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนา ของชาวจังหวัดอุบลราชธานี โดยกำหนดให้จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 และแรม 1ค่เดือน 8 ของทุกปี มีการประกวดต้นเทียน สำหรับต้นเทียนที่ส่งเข้าประกวดมี 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก และจะมีขบวนแห่อันวิจิตรตระการตาแล้วยังมีนางฟ้าประจำต้นเทียนจากคุ้มวัดต่างๆอีกด้วย การจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาได้รับการสนับสนุนและการส่งเสริมจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เป็นงานระดับชาติ ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเที่ยวชมงานกันเป็นจำนวนมากทุกปี











แหล่งที่มา

1 ความคิดเห็น: