จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งจังหวัดในประเทศไทย ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20,107 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีจำนวนประชากรประมาณ 1.63 ล้านคน มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ แบ่งการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ โดยอำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอลำดับที่ 25 ของจังหวัด และลำดับที่ 878 ของประเทศ สัญลักษณ์ประจำจังหวัด คือ รูปช้างเผือกในเรือนแก้ว หมายถึงความสำคัญ 2 ประการของจังหวัด ซึ่งช้างเผือก คือ ช้างที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่นำมาทูลเกล้าถวายแด่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2 แห่งกรุ่งรัตนโกสินทร์) และได้ขึ้นเป็นช้างเผือกเอกในรัชสมัย ส่วนเรือนแก้ว คือ ดินแดนที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง
ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกทองกวาว
ต้นไม้ประจำจังหวัด : ทองกวาว
อักษรย่อ : ชม.
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ - ติดต่อกับ รัฐฉานของสหภาพพม่า โดยมีดอยผีปันน้ำของดอยคำ ดอยปกกลา ดอยหลักแต่ง ดอยถ้ำป่อง ดอยถ้วย ดอยผาวอก และดอยอ่างขางอันเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาแดนลาว เป็นเส้นกั้นอาณาเขต
ทิศใต้ - อ.สามเงา อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง (ตาก) มีร่องน้ำแม่ตื่นและดอยผีปันน้ำ ดอยเรี่ยม ดอยหลวงเป็นเส้นกั้นอาณาเขต
ทิศตะวันออก - อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เมืองเชียงราย อ.แม่สรวย อ.เวียงป่าเป้า (เชียงราย) อ.เมืองปาน อ.เมืองลำปาง (ลำปาง) อ.บ้านธิ อ.เมืองลำพูน อ.ป่าวาง อ.เวียงหนองล่อง อ.บ้านโฮ่ง และอ.ลี้ (ลำพูน) ส่วนที่ติดจังหวัดเชียงรายและลำปางมีร่องน้ำลึกของแม่น้ำกก สันปันน้ำดอยซาง ดอยหลุมข้าว ดอยแม่วัวน้อย ดอยวังผา และดอยแม่โตเป็นเส้นกั้นอาณาเขต ส่วนที่ติดจังหวัดลำพูนมีดอยขุนห้วยหละ ดอยช้างสูง และร่องน้ำแม่ปิงเป็นเส้นกั้นอาณาเขต
ทิศตะวันตก อ.ปาย อ.เมืองแม่ฮ่องสอน อ.ขุนยวม อ.แม่ลาน้อย อ.แม่สะเรียง และอ.สบเมย (แม่ฮ่องสอน) มีดอยผีปันน้ำ ดอยกิ่วแดง ดอยแปรเมือง ดอยแม่ยะ ดอยอังเกตุ ดอยแม่สุรินทร์ ดอยขุนยวม ดอยหลวง และร่องแม่ริด แม่ออย และดอยผีปันน้ำดอยขุนแม่ตื่นเป็นเส้นกั้นอาณาเขต
ภูมิประเทศ
จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ 20,107.057 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 12,566,911 ไร่ มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดนครราชสีมา ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาและป่าละเมาะ มีที่ราบอยู่ตอนกลางตามสองฟากฝั่งแม่น้ำปิง มีภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือ ดอยอินทนนท์ สูงประมาณ 2,565.3355 เมตร อยู่ในเขตอำเภอจอมจอม นอกจากนี้ยังมีดอยอื่นที่มีความสูงรองลงมาอีกหลายแห่ง เช่น ดอยผ้าห่มปก สูง 2,285 เมตร ดอยหลวงเชียงดาว สูง 2,170 เมตร ดอยสุเทพ สูง 1,601 เมตร
ภูมิอากาศ
เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นเกือบตลอดทั้งปี มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 25.4 องศาเซลเซียส โดยมีค่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20.1 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,100-1,200 มิลลิเมตร สภาพภูมิอากาศจังหวัดเชียงใหม่อยู่ภายใต้อิทธิพลมรสุม 2 ชนิด คือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งภูมิอากาศออกได้เป็น 3 ฤดู ได้แก่
- ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน - กลางเดือนกุมภาพันธ์
- ฤดูร้อน เริ่มประมาณสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนพฤษภาคม
ประชากร
จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรทั้งสิ้น 1,666,024 คน แยกเป็นชาย 818,958 คน หญิง 851,066 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 83 คน/ตร.กม. (ข้อมูลวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552) ส่วนประชาชนบนพื้นที่สูง มีจำนวนทั้งสิ้น 312,447 คน กระจายอยู่ใน 20 อำเภอ มีกลุ่มชนเผ่าต่างๆ รวม 13 ชนเผ่า แบ่งเป็นชาวเขา 7 เผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เย้่่า อาข่า (อีก้อ) ละหู่ (มูเซอ) ลีซอ (ลีซู) และลัวะ จำนวน 229,382 คน เป็นชนกลุ่มน้อย 5 กลุ่ม ได้แก่ ปะหล่อง ไทใหญ่ ไทลื้อ จีนฮ่อ และอื่นๆ รวมจำนวน 34,022 คน
ภาษา
ภาษาราชการที่ใช้ในจังหวัดเชียงใหม่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก และมีภาษาท้องถิ่นซึ่งเรียกว่า ภาษาคำเมือง ซึ่งแต่ละท้องถิ่นของทางภาคเหนือ มีคุณลักษณะของภาษาที่คล้ายๆ กัน จะแตกต่างกันเฉพาะสำเนียงและศัพท์บางคำ แต่ละท้องถิ่นก็จะมีความไพเราะต่างกันไป นักท่องเที่ยวที่มาจากถิ่นอื่นล้วนชื่นชมว่า "ภาษาคำเมืองนั้น มีความไพเราะ นุ่มนวล ยิ่งนักแล"
ศาสนา
ประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 91.80 ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 5.60 ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.17 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และ สิกข์ ร้อยละ 0.02 และอื่น ๆ ร้อยละ 1.14 โดยมีสำนักสงฆ์ 471 แห่ง โบสถ์คริสต์ 356 แห่ง มัสยิด 13 แห่ง และโบสถ์พราหมณ์ 3 แห่ง
การท่องเที่ยว
จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงาม โดยในปี พ.ศ. 2549 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 5,590,326 คน มีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 39,785 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 4 ของประเทศรองจากจังหวัดกรุงเทพ ฯ ภูเก็ต และชลบุรี
การค้าและบริการ
มูลค่าการส่งออกผ่านด่านศุลกากรท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2552 มีมูลค่า 4,305.43 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันในปีก่อน ลดลงทั้งปริมาณการส่งออกและราคาสินค้า สาเหตุหลักมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การแข่งขันด้านราคาสินค้าของประเทศจีน และเวียดนามที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า
ประเพณีที่สนใจ
- ประเพณีปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี เป็นประเพณีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของชาวเชียงใหม่ แบ่งเป็นวันที่ 13 เป็นวันมหาสงกรานต์ มีขบวนแห่พุทธสิหิงค์ และพิธีสรงน้ำพระ วันที่ 14 เข้าวัดก่อเจดีย์ทราย และวันที่ 15 เมษายน ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีการเล่นสาดน้ำตลอดช่วงเทศกาล
- ประเพณีลอยกระทง (ยี่เป็ง) จัดขึ้นในช่วงวันลอยกระทงของทุกปี ราวเดือนพฤศจิกายน มีการตกแต่งบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ ด้วยโคมชนิดต่างๆ มีการปล่อยโคมลอย มีการลอยกระทง ประกวดกระทง ประกวดหนูน้อยและนางนพมาศ
- เทศกาลร่มบ่อสร้าง จัดขึ้นในเดือนมกราคมของทุกปี ที่ศูนย์หัตถกรรมทำร่มบ่อสร้าง อ.สันกำแพง มีการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน มีการแสดงทางวัฒนธรรม ขบวนแห่ ประเพณีพื้นบ้าน
- มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ จัดขึ้นในอาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี บริเวณสวนสาธารณะบวกหาด มีขบวนรถบุปผาชาติ และนางงามบุปผาชาติ
- งานไม้แกะสลักบ้านถวาย จัดขึ้นในเดือนมกราคม ที่หมู่บ้านถวายอำเภอหางดง มีการจำหน่ายและสาธิตการแกะสลักไม้ และหัตถกรรมพื้นบ้าน
- ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ จัดขึ้นในเดือนเมษายน ในวันที่ 15 เป็นต้นไป ของทุกปี ที่บริเวณตัวเมืองจอมทอง มีขบวนรถจากชุมชน ห้างร้าน กลุ่มต่างๆ กว่า 40 ขบวน แห่ไปตามเมืองจอมทอง จนถึงวัดพระบรมธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานกว่า 200 ปี ตามตำนานเกิดขึ้นที่อำเภอเภอจอมทอง ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและแห่งเดียวในโลก ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ กลายเป็นต้นแบบของการแห่ไม้ค้ำสะหลีของชาวล้านนา จนได้รับความนิยมไปทั่วภาคเหนือ และเป็นประเพณีที่เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รับความนิยมอย่างมากแหล่งที่มา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น